อาหารเป็นพิษ
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จากการกินอาหารปนเปื้อน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับอาหารปิกนิก อาหารที่ไม่ได้เก็บแช่ไว้ในตู้เย็นอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านาน ๆ โดยไม่มีการแช่เย็นหรืออุ่นให้ร้อนอยู่เสมอ เด็กและคนชรามีโอกาสเสี่ยงสูง โดยอาการของโรคมักเกิดภายใน 2-6 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารปนเปื้อนเชื้อ หรือสารพิษของเชื้อ เริ่มตั้งแต่มีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางครั้งอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ถ้าถ่ายอุจจาระมากจะเกิดอาการขาดน้ำและสารเกลือแร่ในร่างกาย ร่างกายอ่อนเพลีย ทางป้องกันที่ดีคือ ควรกินอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่ทานอาหาร ที่เก็บไว้ค้างคืนนาน ๆ เพื่อป้องกันการรับเชื้อโรคโดยไม่จำเป็น
หากพบว่ามีอาการในระยะแรก ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมาก ๆ อาทิ น้ำข้าว น้ำแกงจืด และดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ โดยห้ามกินยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะเป็นการกักเชื้อให้อยู่ในร่างกาย หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะหากเกิดการสูญเสียน้ำในร่างกายมาก อาจถึงขั้นช็อกจนเสียชีวิตได้
ทางที่ดีควรล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงและกินอาหาร หรือชงนมให้เด็ก ดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก กินอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ งดการกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ลาบ ก้อย และถ่ายอุจจาระในส้วม น่าจะดีที่สุด...
โรคอุจจาระร่วง
เป็นโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส โปรโตซัว และหนอนพยาธิ เชื้อก่อโรคเหล่านี้สามารถติดต่อได้โดยการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไปเช่นกัน อาการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นอาการสำคัญของโรคอุจจาระร่วง อาจถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกปนเลือด โดยทั่วไปมักจะอาเจียนร่วมด้วย ความรุนแรงของอาการแตกต่างกันได้มาก ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย ในขณะที่บางรายอาจมีอาการรุนแรงมาก หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์ทันที
อหิวาตกโรค
โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้ออหิวาต์จะไม่มีอาการหรือมีไม่มาก แต่ในรายที่ติดเชื้อรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิด อาการ เนื่องจากมีการสูญเสียของน้ำและเกลือแร่ในปริมาณมาก โรคนี้ติดต่อได้โดยการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อเข้าไป การรักษาโรคอหิวาตกโรค คือ ควรทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไปกับการถ่ายอุจจาระและการอาเจียน เช่น ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือ แต่หากรุนแรงต้องให้ทางเส้นเลือด ควบคู่กับการใช้ยาปฏิชีวนะ
ไข้ไทฟอยด์
การติดต่อมักเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อในอาหารหรือน้ำดื่ม ซึ่งไข้ไทฟอยด์จะมีอาการแบบเฉียบพลัน รายที่เป็นรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อ Samonella typhi อาการของโรคจะมีไข้ ปวดเนื้อปวดตัว คลื่นไส้ หัวใจเต้นช้าลง (โดยทั่วไปแล้วเวลามีไข้จะเต้นเร็วขึ้น) หากให้แพทย์ตรวจอาจพบว่าม้ามโต บริเวณใต้ชายโครงด้านซ้าย ต้องใช้การตรวจเลือดยืนยันว่าเป็นโรคนี้จริง
การรักษาสามารถทำได้โดยจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม ส่วนการป้องกันสามารถทำได้โดยการใช้วัคซีนซึ่งมีทั้งในรูปของการรับประทาน หรือฉีด แต่การป้องกันไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการระมัดระวังเรื่องอาหารและน้ำดื่ม
ไวรัสตับอักเสบชนิด A
โดยทั่วไปจะติดต่อผ่านทางคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง โดยการปนเปื้อนไปกับน้ำ น้ำแข็ง ผลไม้ หรืออาหารที่รับประทานโดยไม่ผ่านการหุงต้ม โดยอาการที่เกิดขึ้นคือ มีไข้ ปวดเนื้อปวดตัว คลื่นไส้ อาเจียน ไม่สบายภายในท้อง จากนั้น 2-3 วันก็จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง คนที่เป็นโรคอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย 1-2 อาทิตย์ กรณีที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการนานหลายเดือน
ทั้งนี้ เชื้อไวรัสตับอักเสบ A จะตายเมื่อโดนความร้อน ด้วยการต้มหรือหุงที่อุณหภูมิ 85 องศาเซลเซียส อย่างน้อยหนึ่งนาที การป้องกันสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีน
โรคพิษสุนัขบ้า" หรือ "โรคกลัวน้ำ"
โรคนี้ติดต่อจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีแผลรอยข่วน หรือน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อเข้าตา ปาก จมูก โดยสัตว์นำโรคที่พบมากสุด คือ สุนัข รองลงมาเป็น แมว และอาจพบในสัตว์เลี้ยงอื่น เช่น หมู ม้า วัว ควาย และสัตว์ป่า เช่น ลิง ชะนี กระรอก กระแต ได้เช่นกัน
ผู้ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการภายใน 15-60 วัน บางรายอาจนานเป็นปี ซึ่งเป็นที่น่าหนักใจที่โรคนี้ยังไม่มีตัวยารักษาโดยเฉพาะ ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเกือบทุกรายภายใน 2-7 วันหลังแสดงอาการ ดังนั้นหากถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่ และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง แล้วรีบพบแพทย์ในทันที
ผิวหนังไหม้แดด
เกิดจากการอยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน โดยอาการไหม้แดดจะเกิดเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับสีผิวของแต่ละคน ถ้ายิ่งขาวมากเท่าไร ผิวจะยิ่งไหม้เร็วเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีอาการ บวม แดง ร้อน ปวดแสบปวดร้อนและคันตามมาอีกด้วย...
หากไม่อยากให้ผิวสวย ๆ ของคุณไหม้เกรียม ควรหลีกเลี่ยงการออกแดดจัด ๆ และทาครีมกันแดด ครีมให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง ครีมเคลือบผิวเพื่อลดการสูญเสียน้ำของผิวหนัง และสวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมเพื่อป้องกันแดด ที่สำคัญหลีกเลี่ยงการขัดถู และงดใช้สารต่าง ๆ ที่ทำให้ผิวหนังแห้ง เช่น สบู่ ตรงบริเวณที่เป็นผิวไหม้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือเป็นมาก ๆ ควรรีบพบแพทย์ทันที...
ตะคริวแดด เพลียแดด และลมแดด
สาเหตุเกิดจากการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ๆ จึงทำให้เสียเหงื่อมาก และเหตุที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เป็นเพราะในประเทศสหรัฐอเมริกามีรายงานการเสียชีวิตจากโรคจากแดดถึง 300-400 รายต่อปี
โรคลมแดด หรือ "ฮีทสโตรก" (Heat Stroke)
เป็นโรคหน้าร้อนที่น่ากลัวที่สุด เกิดจากการได้รับความร้อนมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย หรืออยู่ในภาวะที่มีอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน โรคนี้อาจเกิดขึ้นได้ในผู้มีร่างกายแข็งแรง จัด เป็นความผิดปกติที่มีความรุนแรงมากที่สุด เพราะทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติเกิน 40 องศาเซลเซียส ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาอย่างรีบด่วน เนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิตถึง ร้อยละ 17-70 เลยทีเดียว
โดยอาการที่สังเกตได้ คือ จะไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่ว ๆ ไป ที่จะพบว่ามีเหงื่อออกด้วย หากเกิดอาการดังกล่าวจำเป็นต้องหยุดพักทันที และรีบพบแพทย์โดยด่วน...
หากไม่อยากเป็นโรคดังกล่าว ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด หากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้ว่าจะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด
Tips กินน้ำให้ปลอดภัยในหน้าร้อน
ในหน้าร้อนควรดื่มน้ำให้มาก ๆ ยกเว้นผู้ป่วยโรคไตหรือโรคหัวใจบางชนิด เพราะผู้เป็นโรคไตเมื่อดื่มน้ำถึงระดับหนึ่งจะไม่สามารถปัสสาวะออกได้ หรือปัสสาวะได้เพียงเล็กน้อย หากดื่มน้ำเข้าไปมาก จะทำให้น้ำคั่งและท่วมปอดได้ ส่วนโรคหัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง หากดื่มน้ำเข้าไปมากๆ จะทำให้ปริมาณเลือดในร่างกายมาก ทำให้หัวใจต้องสูบฉีดมากขึ้น ก็จะทำให้หัวใจแย่ลง
การดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการในหน้าร้อน คือวันละประมาณ 1.5-2 ลิตร
อันที่จริงไม่ว่าจะหน้าร้อน หน้าฝน หรือหน้าหนาวทั้งหมดก็แฝงไปด้วยโรคร้ายต่าง ๆ มากมายเช่นกัน ดังนั้นเราควรทำร่างกายของเราให้พร้อม เพื่อรับมือกับเชื้อโรคต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ด้วยการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์และปรุงสุกใหม่ ๆ หมั่นล้างมือเป็นประจำ และที่สำคัญควรทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด เพราะหากใจพร้อม กายก็จะพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวได้เสมอ...