|  เข้าสู่ระบบ   
 
 
การดูแลสุขภาพในหน้าหนาว
27/12/2555

มีโรคใดบ้างที่พบบ่อยในฤดูหนาว
            ในช่วงฤดูหนาวเราอาจเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส  บางคนที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่เดิม โดยเฉพาะแพ้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในบ้าน เช่น ขนของสัตว์เลี้ยง  ตัวไรในฝุ่นก็อาจมีอาการแพ้มากขึ้น โดยอาจมีอาการจาม น้ำมูกไหล หรือบางคนที่เป็นโรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรังอยู่ก่อนแล้วก็อาจมีอาการหอบมากขึ้นได้ โดยเฉพาะถ้าติดไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย นอกจากนั้นปัญหาเรื่องผิวหนังก็เป็นเรื่องที่พบได้บ่อย เช่น ผิวแห้งคันหลังอาบน้ำซึ่งพบบ่อยมากในผู้สูงอายุซึ่งมีไขมันใต้ผิวหนังน้อยและต่อมไขมันก็ทำงานลดลงตามอายุ หรือคนที่ผิวแห้งอยู่เดิมก็อาจคันมากหรือผิวลอกไปเลย  บางรายที่เป็นผื่นผิวหนังแพ้อากาศเย็นก็อาจทำให้มีผื่นแพ้อากาศเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องสุขภาพ
            ไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งติดต่อได้ทางระบบหายใจ เช่น ไอ จาม ทำให้เชื้อโรคกระจายออกมาในอากาศ  หรือจากการที่มีเสมหะ น้ำลายของผู้ป่วยเปื้อนอยู่ตามที่ต่าง ๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได แก้วน้ำ แล้วมือเราไปสัมผัสมาแล้วเผลอไปจับจมูก จับหน้าของเราทำให้เชื่อโรคเข้าจมูกหรือตาได้
            ส่วนอาการโรคภูมิแพ้เกิดจากการที่เรามีโอกาสมากขึ้นในการอยู่ใกล้ชิดกับสิ่งที่เราแพ้ เช่น พอฤดูหนาว  เราและสัตว์เลี้ยงอาจอยู่ในบ้านมากขึ้น  ถ้าเราแพ้ขนสัตว์อาจทำให้เรามีอาการมากขึ้น หรือเรานอนมากขึ้นในฤดูหนาวทำให้แพ้ตัวไรในฝุ่นตามที่นอน หมอน มุ้งมากขึ้น สำหรับอาการผื่นแพ้อากาศเย็นหรือคันตามผิว คัน แห้ง ลอกนั้นเกิดจากอากาศที่เย็นโดยตรง

โรคที่มีผลกระทบต่อสุขภาพมากที่สุด
            โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่พบว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพมากที่สุดในฤดูหนาว เพราะเป็นโรคที่อาจเกิดผลแทรกซ้อนได้ และอาจมีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากได้ โดยเฉพาะถ้ามีการระบาด โดยประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ปีละ 20,000 – 50,000 คน/ปี  บางรายเพลียมาก มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัวมากจนต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือหยุดงาน  และมีบางรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ ทำให้ต้องนอนโรงพยาบาล หรือบางรายถึงแก่ชีวิต  ซึ่งมักเป็นผู้ป่วยสูงอายุแต่พบไม่บ่อย เสียชีวิตปีละไม่กี่รายจากจำนวนคนที่ป่วยหลายหมื่นคน  สำหรับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่จะคล้าย ๆ กับโรคไข้ชนิดอื่น ๆ คือ มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก ระคายคอ แต่ถ้ามีไข้มากหรือปวดเมื่อยตามตัวมากต้องระวังว่าอาจเป็นไข้หวัดใหญ่ได้โดยโรคนี้พบได้ทุกวัยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ  แต่ถ้าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืดอยู่เดิม หรือมีโรคเรื้อรังที่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อย ๆ เช่น ไตวาย เบาหวาน โรคหัวใจ และผู้ที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี  เช่น ได้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่อาจมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน คือ ปอดอักเสบติดเชื้อจากไข้หวัดใหญ่เองหรือจากเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้มาก

วิธีการรักษา
            โรคไข้หวัดใหญ่โดยทั่วไปจะหายเองภายใน 1-2 สัปดาห์  หรือให้การรักษาตามอาการ คือช่วงที่มีไข้ก็รับประทานยาลดไข้พาราเซตตามอล  เช็ดตัวบ่อย ๆ พักผ่อนมาก ๆ  ไม่ตรากตำทำงานหนัก ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ  ถ้าสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้ายู่ต้องงด  และรับประทานยาลดอาการต่าง ๆ  เช่น  ถ้าไอก็รับประทานยาแก้ไอ มีน้ำมูกก็รับประทานยาลดน้ำมูก เป็นต้น ในเด็กควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดไข้แอสไพริน  เนื่องจากอาจเกิดตับวายและสมองอักเสบได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก เช่น หอบเหนื่อย ซึม โดยเฉพาะในผู้สูงอายุซึ่งอาจมีไข้ อ่อนเพลียโดยอาการไม่ชัด แล้วมีอาการซึม สับสน ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง อาจต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้การดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาการดังกล่าวจะพบเป็นส่วนน้อย สำหรับยาฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะมักไม่ต้องใช้  เพราะโรคจะหายได้เอง  จึงใช้เฉพาะในรายที่อาการรุนแรงเท่านั้น

ความจำเป็นในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 
            แนะนำให้ฉีดเฉพาะในรายที่มีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนจากโรคสูง  ส่วนในคนทั่วไปยังไม่แนะนำเนื่องจากวัคซีนได้ผลประมาณร้อยละ 70-90  แต่ในผู้สูงอายุอาจได้ผลน้อยกว่านี้  สาเหตุของการที่ได้ผลน้อยกว่าวัคซีนชนิดอื่น ๆ  เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการกลายพันธุ์ตลอด โดยควรฉีดวัคซีนก่อนถึงช่วงที่จะมีการระบาดของโรค  เนื่องจากเมื่อฉีดไปแล้ว  2  สัปดาห์ ร่างกายจะเกิดภูมิคุ้มกันโรคได้ และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นอยู่ได้ 1 ปี  ฉะนั้นต้องฉีดปีละครั้ง สำหรับกรณีที่ควรฉีดวัคซีนได้แก่ 1. ผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 65 ปี 2. ผู้ที่โรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด 3.  ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังอื่นๆ เช่นโรคไต โรคเบาหวาน  4.  ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันด้วย  5. เด็กอายุ 6 เดือน - 8 ปี ที่รับประทานยาแอสไพรินเป็นประจำ  เนื่องจากถ้าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่อาจเกิดตับอักเสบและสมองอักเสบได้  6. ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไตรมาสที่  และ 3   7. ผู้ที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือชุมชน เช่น แพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่ทำงานในสถานดูแลผู้ป่วยสูงอายุ เป็นต้น
ควรดูแลสุขภาพในช่วงฤดูหนาวอย่างไร
            การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าสุขภาพดีจะลดโอกาสการเจ็บป่วยลง โดยทั่วไปควรปฏิบัติ ดังนี้ 
1.  รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพียงพอและครบหมู่ ดื่มน้ำมาก ๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอไม่ตรากตรำทำงานหนักจนเกินไป
2.  อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท ไม่เข้าไปในที่แออัดโดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่
3.  หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และยาเสพติดต่าง ๆ เนื่องจากอาจทำให้สุขภาพร่างกายเสื่อมโทรม มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย
4.  หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดอยู่  และไม่ควรใช้ของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน
5.  ล้างมือบ่อย ๆ เนื่องจากอาจไปสัมผัสเชื้อโรคที่อยู่ตามสิ่งของต่าง ๆ เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู  แก้วน้ำ เป็นต้น แล้วเผลอไปสัมผัสบริเวณหน้าได้ โดยล้างมือด้วยสบู่ธรรมดา 15-20 วินาที หรือใช้น้ำยาล้างมืออื่น ๆ 
6.  รักษาร่างกายให้อบอุ่นในช่วงฤดูหนาวหรือช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ในที่ที่หนาวมากควรสวมหมวกเพื่อลดการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย
7.  หากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ควรมีผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอจาม ไม่คลุกคลีกับผู้อื่นและหมั่นล้างมือบ่อย ๆ
8.  สำหรับปัญหาเรื่องผิวหนัง เราควรให้ร่างกายอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา ใส่เสื้อผ้าหนา ๆ ถ้าอากาศหนาวมาก ไม่อาบน้ำนาน ๆ ในที่ที่หนาวมาก  อาจไม่ต้องอาบน้ำวันละสองครั้งเหมือนฤดูอื่น หลังอาบน้ำควรทาโลชั่นหรือน้ำมันทาผิว  หลังจากเช็ดตัวหมาด ๆ  ในกรณีที่มีปัญหาริมฝีปากแตก ควรทาด้วยลิปสติกมันและไม่ควรเลียริมฝีปากบ่อย ๆ
            ทุกคนจึงควรหมั่นคอยดูแลสุขภาพให้ดีตลอดเวลาเพราะจะเป็นการป้องกันโรคที่คุ้มค่าที่สุด  และไม่มีใครรู้ว่าความเจ็บป่วยจะเกิดขึ้นกับตัวเราเมื่อไหร่  หากเมื่อเราป่วยอาจเป็นมากกว่าคนที่มีพื้นฐานสุขภาพที่ดี   สำหรับผู้ที่อายุยังไม่มาก ก็ควรดูแลสุขภาพให้ดีเช่นเดียวกัน เพราะสุขภาพที่ดีในตอนอายุยังน้อยจะเป็นเกราะป้องกันโรคตอนอายุมากขึ้น


 
กลับ ขึ้นบน
 
 
©2010 National Health Security Office Version 2.02.006 Update 22/10/2556